“ต้นทุนแฝง” ที่เจ้าของโรงพิมพ์ต้องรู้! มารู้เทคนิคการจัดการต้นทุนแฝงในโรงพิมพ์ด้วยกัน

“ต้นทุนแฝง” ที่เจ้าของโรงพิมพ์ต้องรู้! มารู้เทคนิคการจัดการต้นทุนแฝงในโรงพิมพ์ด้วยกัน

ในภาวะธุรกิจหากินยากอย่างที่พวกเราประสบกันอยู่ในทุกวันนี้ เรื่องที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสนใจ นอกเหนือจากปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น คู่แข่ง หรือ ภาวะเศรษฐกิจ นั่นก็คือการจัดการภายใน

สมการคลาสสิกที่เราพึงระลึกเสมอ คือ กำไร = รายได้ – ค่าใช้จ่าย

นอกเหนือกลยุทธ์ในการจัดการให้เกิดรายได้มากๆ เราจะเห็นได้ว่ากลยุทธ์การจัดการหลังบ้าน เพื่อให้สูญเสียค่าใช้จ่ายน้อยก็เป็นตัวแปรที่ทรงพลังเช่นเดียวกัน  ในธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่ภาระต้นทุนถูกกองรวมในกระบวนการผลิต การหาคำตอบให้ได้ว่า ในแต่ละกระบวนการนั้นเราสูญเสียกับอะไรเป็นราคาเท่าไรบ้าง จะทำให้เราลดต้นทุนที่แฝงมาจากสิ่งนั้นได้ เราควรเริ่มอย่างไร มาดูกันเลย

  1. กระบวนการผลิตของเรามีขั้นตอนอย่างไร?
    คุณทราบหรือว่าในแต่ละขั้นตอนคุณมีต้นทุนอะไรเท่าไรบ้าง?  ความชัดเจนในการผลิตทำให้สามารถระบุกิจกรรม และตัวบุคคล  ลดทอนขั้นตอนที่ไม่จำเป็น อีกทั้งสามารถทำให้เราลำดับความสำคัญของการจัดการแต่ละกิจกรรมนั้นได้  การกำหนดบทบาทต่างๆ ให้เอื้อต่อการลดความสูญเสีย หรือความผิดพลาดต่างๆ ได้ดีเริ่มจากการเห็นกระบวนการที่ชัดเจนค่ะ
  2. จุดไหนบ้างที่ควรตรวจสอบ?
    เมื่อเห็นกระบวนการชัดเจนแล้วเราควรจัดการตรวจสอบคุณภาพในจุดเสี่ยงด้วย  การ QC เพียงแค่ไม่กี่นาทีอาจหยุดความสูญเสียจากงานผิดพลาดมูลค่ามหาศาลได้เลยทีเดียว แต่สำหรับโรงพิมพ์แล้ว การ QC มักถูกละเลยและนำไปไว้ท้ายสุดของการผลิต ทั้งที่จริงๆ แล้วหากเราสามารถ QC ได้ตั้งแต่แรกก็จะลดการสูญเสียไปได้อย่างมาก เช่น QC ตั้งแต่ขนาดกระดาษที่เข้ามา Lay Out ที่ลดการสูญเสียมากที่สุด การสุ่มตรวจระหว่างพิมพ์ เหตุการณ์ผิดแบบ แตก ถอน และทิ้ง จะได้ไม่เกิดขึ้นค่ะ
  3. เลย์กระดาษอย่างมีเทคนิคลดต้นทุนได้มาก
    การวางแผน Lay out และเลือกขนาดกระดาษที่เหมาะสมอาจทำให้คุณสามารถลดการสูญเสียต้นทุนผลิตได้มากเชียวนะ เพราะว่ากระดาษเป็นต้นทุนหลักของโรงพิมพ์ การ Lay แบบพิมพ์กล่องอย่างมีเทคนิค ให้ใช้พื้นที่ได้อย่างประหยัดที่สุดนอกเหนือจะทำให้ประหยัดค่ากระดาษแล้ว ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ตามมาจากเศษกระดาษเหลือทิ้ง เช่น ค่าเคลือบ Coating  ต่อตารางนิ้วที่สูงขึ้น  แถมยังต้องเอาเศษกระดาษติดเคลือบไปขายทิ้งซากในราคาถูกอีก น่าเสียดายจริงๆ
  4. จัดระบบให้เกิดระเบียบ  ลดการสูญเสีย
    การวางระบบ ทำระเบียบในการจัดเก็บของและเบิกจ่ายวัสดุสิ้นเปลือง นอกจากจะช่วยให้เราประเมินต้นทุนได้อย่างถูกต้อง ก็ยังเป็นตัวช่วยให้เราเห็นประสิทธิภาพของสิ่งที่เราจ่ายออกไปด้วย เช่น การเบิกจ่ายสี กาว หรือกระทั่งช่วยเปรียบเทียบคุณภาพของช่างพิมพ์ และวัสดุที่ใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เราสามารถเลือกสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดได้อีกด้วยค่ะ
  5. สร้าง DNA ขององค์กร
    โรงพิมพ์ประกอบด้วยทีมงานหลายคนหลายฝ่าย การปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร การแบ่งปันความรู้ และการฝึกฝนทักษะเป็นเรื่องที่เราต้องสร้างให้เกิดขึ้นให้ได้ ต่อให้เครื่องพิมพ์ราคาสักกี่ล้าน แต่ถ้าขาดคนทำงานที่ใส่ใจแล้วงานที่ออกมาก็คงยากจะสมราคา และนี่คือต้นทุนแผงที่เจ้าของโรงพิมพ์จะต้องแบกรับไว้

การออกแบบ DNA ของโรงพิมพ์ต้องเริ่มจากท่านเจ้าของโรงพิมพ์เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ทีมงาน  เข้าใจและเข้าถึงปัญหา หมั่นสื่อสาร และฝึกฝนให้ทีมงานเป็น Dream Team นะคะ

About The Author